Distagon-24mm

 

Hasselblad Lenses ที่เราควรจะรู้จัก…
Hasselblad ยังคงเป็น Medium format กล้องที่มีตำนานเล่าขานกันไม่รู้จบสิ้น แม้จะยุติสายการผลิตไปเมื่อปี 2007
แต่ด้วยเพราะ Hasselblad มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน และมีชื่อเสียงด้านคุณภาพของเลนส์ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก
ทุกนวตกรรมของ Hasselblad มีที่มาที่น่าสนใจ และทุกสิ่งที่ Hasselblad และ Carl Zeiss ร่วมกันประดิษฐ์ขึ้นหรือพัฒนาขึ้น
ล้วนเพื่อพวกเรา..ที่เรียกตัวเองว่า นักถ่ายภาพ หรือผู้หลงไหลในมนต์เสน่ห์ของ Square Format ทั้งสิ้น
ผู้ใช้ Hasselblad ได้ประโยชน์จากนวตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นโดยตรง นี่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ Hasselblad ที่เราๆ ท่านๆ อาจจะรู้หรือลืมนึกไป หรืออาจจะเพิ่งรู้ตอนนี้ก็ได้ Hasselblad จะยังคงอยู่กับคนรุ่นเรา…ต่อไปอีกหลายสิบปี 😀

 

distagon-50mm-c-t-0007
Hasselblad กับเลนส์ที่ควรรู้จัก จริงๆ แล้ว -Hasselblad ผลิตเลนส์หลายรุ่นมาก เท่าที่มี พอแบ่งได้ 2 Series คือ
1 Lens for Hasselblad 200 Series ใช้รหัสของเลนส์ว่า F, FE
2 Lens for Hasselblad 500 Series ใช้รหัสของเลนส์ว่า C, CF, CF-C [ CF-C ที่ผลิตออกมาคู่กับ 501C โดยเฉพาะ ] CFi และรุ่นล่าสุด CFE
( CFi CFE lens มี contacts ไฟฟ้าที่ตัวเลนส์เพื่อให้เลนส์ CFE series ทั้งหมด สามารถใช้ร่วมกับกล้อง 200 Series ซึ่งเป็นกล้องตระกูลไฟฟ้า เพื่อให้เลนส์รุ่นใหม่ๆ ทำงานร่วมกันได้กับกล้องเต็มระบบ เช่น วัดแสงผ่านเลนส์ auto shutter, auto f-stop ฯลฯ

 

Distagon-50mm-CF
Hasselblad จำเป็นต้องเลิกสายการผลิตเลนส์ Series FE เนื่องจาก Hasselblad หันไปพัฒนากล้อง H Sereis อย่าง H1 H2 H3D H4D H5D และ H6D ร่วมกับ Fuji ซึ่งเป็นกล้อง Auto Focus Format 645 อย่างจริงจังแทน )
ขออนุญาตเล่าซ้ำนิดหนึ่งนะครับ สำหรับท่านที่รู้แล้วก็ถือว่าเป็นการทบทวนก็แล้วกัน

 

Planar-110mm-f2

 
Carl Zeiss ผู้ผลิตเลนส์รายใหญ่ระดับต้นๆ ของโลก ออกแบบเลนส์ให้กับ Hasselblad เป็นแบบ Leaf shutter และ Shutter Unit อยู่ที่ตัวเลนส์ ไม่ได้เป็นแบบ Focal Plane shutter ที่อยู่ที่ตัวกล้องอย่าง SLR หรือ DSLR ทั่วๆ ไป
Leaf shutter unit ที่ตัวเลนส์ มีเสน่ห์และข้อดีหลายอย่าง เช่น
– มี Image circle ที่มีขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงความคมชัดของภาพที่ได้จากเลนส์สูงขึ้นกว่าแบบเดิม ( SLR, DSLR ) มาก
– ตัวเลนส์มีขนาดพอเหมาะไม่ใหญ่เทอะทะจนเกินไปนัก
– เลนส์ให้ความสว่างกว้างสุด F 2.8 ซึ่งถือว่าสว่างมากเพียงพอสำหรับ Medium format
– leaf shutter สามารถ Sync Flash ได้สูงสุดถึง 1/500 วินาที Carl Zeiss Prontor สามารถทำได้ตั้งแต่ห้าสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่มีกล้อง Focal plane shutter ตัวใดสามารถทำได้สูงสุดขนาดนี้มาก่อนเลยจนถึงในปัจจุบัน (นอกเสียจากว่าใช้ computer ship set ในตัวกล้อง Digital ช่วย)

 

50mm-C-lenses-type_0007

 
เสน่ห์ของเลนส์ C types and C T* types
Hasselblad C lens type รุ่นแรกๆ เป็นสีเงิน หรือ บรอนซ์ มีหลายทางยาวโฟกัสให้เลือกใช้งานเช่น.. 50mm 60mm 80mm 120mm 150mm และ 250mm
ต่อมาพัฒนาสู่รุ่น Black C type ตัวเลนส์เป็นสีดำ มีหลายทางยาวโฟกัสให้เลือกใช้ เพิ่มมากขึ้นเช่น 40mm 50mm 60mm 80mm 100mm 120mm 150mm 250mm 350mm และ 500mm
Hasselblad โด่งดังมาก จาก C type T* Series ( ที สตาร์ ) ในรุ่นกระบอกเลนส์สีดำ เนื่องจากเลนส์มีความคมชัดสูงและถ่ายทอดสีสันได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนใครที่ชื่นชม การถ่ายภาพ Black and White T* lens ถือว่าเป็นตำนานที่กล่าวขานจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว ในแง่ของความคมชัด สีสันที่ไม่จัดจ้านจนเกินไปนัก
การไล่โทนสีที่เหมาะสมกับงาน Zone Systems ในสไตล์คล้ายๆ ของ Ansel Adams
ไม่เหมือนอย่างเลนส์ CF CFi CFE รุ่นใหม่ๆ ที่คมชัดจัดจ้านกว่า แต่ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเลนส์ในแต่ละยุค ซึ่งต่างชื่นชอบกันตามอัธยาศัย
เพราะ “ Hasselblad Fits to Anyone ”
Hasselblad “เหมาะกับคนทุกๆ คน” ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหลงไหลในมนต์เสน่ห์ของภาพจากเจลาตินฟิล์มสี่เหลี่ยมจัตุรัสและอีกหลายๆ เหตุผล
ที่ไม่ทราบเหมือนกันว่า Hasselblad เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจเราตั้งแต่เมื่อไหร่…
รู้ตัวอีกที Hasselblad ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความทรงจำที่งดงามไปแล้ว…

 

500cm-set_1

 
เสน่ห์ของเลนส์ C ที่ไม่มีแล้วในเลนส์รุ่นใหม่ๆ อย่าง CF, CF-C, CFi และ CFE
เลนส์ของ Hasselblad ที่ผลิตออกมารุ่นหลังๆ Functions ของเลนส์บางอย่างถูกตัดออกไป ด้วยเหตุผลหลายอย่าง
อาจจะเป็นเหตุผลทางด้านการตลาดของการผลิตชิ้นส่วน หรือความนิยมในการใช้งานในฟังชั่นนั้นๆ เริ่มลดลง
จึงจำเป็นต้องเพิ่มฟังชั่นอื่นๆ ที่จำเป็นกว่าเข้ามาแทน

 

500c-black-set_1

 
Hasselblad กับการถ่ายภาพซ้อน
Hasselblad ไม่มีปุ่มถ่ายภาพซ้อนเหมือนอย่างกล้อง SLR ทั่วๆ ไป
วิธีการถ่ายภาพซ้อนนั้น ทำได้โดยการถ่ายภาพที่เราต้องการไปก่อนในครั้งแรก
เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว จากนั้นให้ใส่ Dark slide กลับเข้าไปเหมือนเดิม ทำการถอดฟิล์มแม็กกาซีนออก
เมื่อถอดฟิล์มแม็กกาซีนออกแล้ว ให้ขึ้นฟิล์มหรือชัตเตอร์ที่กล้องแล้วใส่ฟิล์มแม็กกาซีนเข้าไปใหม่อีกครั้ง
ถอด Dark slide แล้วถ่ายใหม่ซ้ำอีกครั้ง
การถ่ายภาพซ้อนสามารถทำได้ตามคำแนะนำนี้..
แต่มีข้อแนะนำอยู่ว่า ควรตั้งบนขาตั้งกล้องเท่านั้น เพราะตำแหน่งของภาพอาจจะไม่อยู่ที่เดิมถ้าเราใช้มือถ่าย
ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาพซ้อนที่ได้ภาพเหลื่อมกัน เหมือนเราถ่ายทับเฟรมภาพเดิมก่อนหน้านี้ครับ..
การถ่ายภาพซ้อน ส่วนใหญ่ถ่ายภาพในเวลากลางคืนเสียมากกว่า.. เช่นถ่ายภาพดวงจันทร์ให้มีขนาดใหญ่ด้วยเลนส์เทเล
จากนั้นเปลี่ยนเป็น wide angle lens เพื่อถ่าย landscape ประมาณนี้ครับ หรือขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ถ่าย 😀

 

ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ…

Yut Hasselblad

Sep 16, 2016