ดีใจมากๆ เลยครับที่มีคนคิดถึงและติดตามเรื่องราวของ Hasselblad ผ่านการเขียนบทความเล็กๆ ที่มีสาระบ้างไม่มีสาระบ้างของผม ผมอาจหายไปบ้างนะครับ ตามเวลาและหน้าที่ของคนๆ หนึ่งที่ไม่ได้มีความสำคัญอะไร แค่ทำพยายาม “ทำหน้าที่” บางอย่าง ที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนเวลาจะผ่านไปเท่านั้นเอง หากช้าไปกว่านี้ก็ไร้ประโยชน์
ช่วงเวาที่ผ่านมาผมต้องเขียนหนังสือที่ความหนา ๒๒๐ หน้า เป็นตำราที่ผมเขียนขึ้นสำหรับการสอนในมหาวิทยาลัย เหลือเพียงการตรวจทานพิสูจน์อักษร และออกแบบหน้าปกรูปเล่ม ซึ่งคงจะทันใช้ในวันเปิดเทอม ๑๕ สิงหาคม ๑๕๕๙ นี้พอดี ตลอดเวลากว่า ๒๐ ปีของการเป็นคนสอนหนังสือควบคู่ไปกับการทำงานในอาชีพ ผมว่ามันก็สนุกดีนะครับ มีอะไรให้ทำเยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะการถ่ายทอดความรู้เรื่องการถ่ายภาพอย่างง่ายๆ ให้กับเด็กๆ ผมไม่ได้คิดจะเขียนหนังสือหรือตำรา เพราะคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นผู้รอบรู้ จะรู้เฉพาะเรื่องที่ผมควรรู้ และเชี่ยวชาญเพราะแค่ทำมานานเท่านั้นเอง ไม่ได้เก่งกาจไปกว่าใครเลย จริงๆ มีคนเก่งกว่าผมตั้งมากมาย อันนี้เรื่องจริงนะครับ
อยู่มาวันหนึ่งผมมีโอกาสได้คุยกับ ผศ.ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า คุณควรเขียนหนังสือสักเล่มนะ คุณสอนมานานแล้วคุณควรจะมีหนังสือให้เด็กๆ ได้อ่านบ้าง (ผมสอนด้วยวิธีการแบบเดิมๆ ที่สุด คือมีแค่หัวข้อเรื่องที่เด็กๆ ควรรู้เรื่องการถ่ายภาพ จากนั้นก็พูดอย่างเดียว ๔ ชั่วโมงรวด พักเบรคทุก ๒ ชั่วโมงและให้เด็กๆ พักไปเข้าห้องน้ำ ๑๕ นาที ตลอดชั่วโมงการสอน ผมบอกเด็กๆ ว่า จดทุกอย่างที่ผมพูด เพราะประสบการณ์การเรียนรู้ของครู เธอหาอ่านที่ไหนไม่ได้)
ผมแค่รับปากกับอาจารย์ท่านนั้นเมื่อสามปีที่แล้วว่า “ครับ” แล้วผมก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มันมีเหตุผลนะครับ คือผมอายที่จะเขียนตำราสำหรับการสอน เพราะผมเป็นคนนอก ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในมหาวิทยาลัย เด็กๆ ควรมีตำราดีๆ อ่าน จากคนเก่งๆ ไม่ใช่เขียนโดยนายยงยุทธ ซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้ (มันน่าอายนะครับ…เป็นความคิดของผมที่เจียมเนื้อเจียมตัว เพราะรอบข้างมีแต่คณาจารย์ที่มากด้วยตำแหน่งและความสามารถ) เขียนไปก็คงไม่มีประโยชน์ ผมคิดอย่างนี้ จนแล้วจนรอดผมก็ได้แต่เก็บข้อมูลไว้เฉยๆ ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย
จนเมื่อเทอมที่แล้วผมทราบมาว่า วิชาที่ผมสอนมหาวิทยาลัยจะยุบรายวิชานี้ในปีการศึกษาหน้าคือ ๒๕๖๐ ด้วยเหตุผลว่า “เด็กๆ ไม่ได้อะไร จากการเรียนวิชานี้” ผมอึ้งไปอยู่พักนึง เหมือนคนที่ก้มหน้าเดิน แล้วพอเงยขึ้นก็ชนเสาดังปังพอดี มันมึนๆ ครับ คนที่มีประสบการณ์ในการชนเสาแบบนี้คงรู้สึกได้เหมือนที่ผมพูด ผมก็เข้าใจดีนะครับ เพราะเป็นวิชาพื้นฐานที่สอนด้วยอาจารย์ ๗-๘ คนในรายวิชาเดียว ต่างคนต่างสอนไปคนละแนว เพราะไม่มีตำรา มีแค่ มคอ. ที่เป็นแผนการสอน และผู้สอนต่างคนก็ต่างประสบการณ์ สอนกันไปเรื่อยๆ ผมไม่แปลกใจที่เด็กๆ ไม่ได้อะไรมากเท่ที่ควร แต่ผมก็พอมีความเชื่อมั่นว่าเด็กๆ ๗๐-๘๐ คนที่ได้เรียนกับผม จากนิสิตทั้งหมด ๑,๖๐๐ กว่าคนในแต่ละปี น่าจะได้อะไรไปบ้าง (ผศ. ท่านฟังจากคำบอกเล่าของนิสิตหลายสิบคน ต่างกรรมต่างวาระกันไป และท่านคงเห็นด้วยว่า เด็กๆ ที่ได้เรียนกับผมคงพอมีความคิดและถ่ายรูปเป็นบ้าง) ท่านเลยมอบหน้าที่ (ภาระ) อันทรงเกียรตินี้ให้กับผม อนึ่ง “รายวิชาศิลปะเพื่องานนิเทศน์ศาสตร์” เป็นความประสงค์ของท่านอดีตคณบดี ที่ต้องการให้เด็กๆ ได้เข้าใจศิลปะมากขึ้น นอกจากการถ่ายรูปเพียงอย่างเดียว (เด็กๆ ๙๐% ในแต่ละสาขา ลืมเรื่องถ่ายรูปไป เมื่อขึ้นปีสองหรือปีสาม) ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับท่าน การยุบรายวิชานี้แล้วมีรายวิชาอื่นเข้ามาแทน ผมเชื่อว่าเด็กก็คงไม่ได้อะไรมากขึ้นอีกอยู่ดี เพราะคนสอนยังเป็นหน้าเดิมๆ รวมถึงผมด้วยนะครับ ฉะนั้น เด็กๆ ควรจะได้อะไรทุกคนเป็นชิ้นเป็นอันได้แล้ว
มาถึงเรื่อง Mission Possible, through the eye’s perspective of the wide angle lens กันต่อ หลังจากที่ผมโม้มาเสียนาน เลนส์มุมกว้างมักจะมี Perspective ที่แตกต่างกันไปตามความกว้างของมัน เช่น 38mm Biogon ที่ติดตายตัวกับกล้องใน 900 Series กว้างกว่า 40mm Distagon และ 50mm Distagon ของเลนส์ที่ใช้กับ 500 V series ( Eye Perspective = มุมที่สายตามองเราเห็นและเป็นจริงตามนั้นคือ สิ่งที่อยู่ใกล้จะมีขนาดใหญ่ สิ่งที่อยู่ไกลออกไปจะมีขนาดเล็กลงทั้งๆ ที่มันมีขนาดเท่ากัน ..ลองนึกถึงการเรียงตัวของเสาไฟฟ้าดูนะครับ) ของเลนส์ Carl Zeiss ของ Hasselblad ก็มีลักษณะแบบนี้เช่นกัน ผมมีโอกาสได้ลองเอาเลนส์ไปถ่ายเล่นดูบ้าง หลังจากที่มัวแต่เอามันไปทำมาหากินเสียนาน
ภาพนี้ถ่ายด้วย Hasselblad 501cm เลนส์ Hasselblad Carl Zeiss 40mm F4 CF T* FLE Distagon + PhaseOne P30 31mpx
ส่วนภาพนี้ถ่ายด้วย Hasselblad 501cm เช่นกัน ส่วนเลนส์เป็นเลนส์ Carl Zeiss 50mm F4 CF T* Distagon + Digital back PhaseOne P30 เช่นกันครับ ไม่ได้ตกแต่งภาพอะไรเลย สภาพแสงขณะนั้นก็ครึ้มแดดครึ้มฝน วัดแสงก็กะๆ เดาๆ เอา เปิด F-stop กว้างสุดทั้งสองภาพ เลนส์ทำหน้าที่ของมันได้ดีทีเดียว ด้วยการถ่ายทอดสีสันในสภาวะที่แสงน้อยๆ ได้ดี ส่วน Digital Back ก็ใช้งานสะดวกและคล่องตัวมาก ลืมฟิล์มไปชั่วขณะ แต่ผมก็ถ่าย Digital เหมือนกับถ่ายด้วยฟิล์มนะครับ ถ่ายประมาณ ๔ ม้วน [48-50 ภาพ] สถานที่ก็เป็นตลาดน้ำขวัญเรียมใกล้บ้าน
ผมให้ชื่อภาพว่า “ศรัทธา” ศรัทธา…ที่เป็นความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เราอาจมองไม่เห็น แต่เราก็เชื่อว่ามีอยู่จริง (ผมอธิบายได้ง่ายๆ ว่าเหมือนอากาศ เรามองไม่เห็นแต่ก็สัมผัสได้ว่ามีอยู่) ดอกไม้นานาชนิดจึงเปรีบเหมือนตัวแทนของศรัทธา ที่ส่งผ่านไปยังสิ่งที่เราเชื่อว่ามี..แค่มองไม่เห็นเท่านั้นเอง
งานผมเร่ิมเบาแล้วครับ คงได้มาพบปะหรือเจาะเจอกันอีก คิดถึงเพื่อนๆ คนใช้ Hass และคนที่หลงใหลใน Square Format ทุกๆ คนนะครับ
ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพ ที่เป็นเหมือนหนึ่งในกิจกรรมของชีวิต ที่ต้องทำอยู่เสมอๆ อย่าลืมส่งการบ้านนะครับ 😀
Yut Hasselblad