Hasselblad Lenses ที่เราควรจะรู้จัก…
Hasselblad ยังคงเป็น Medium format กล้องที่มีตำนานเล่าขานกันไม่รู้จบสิ้น แม้จะยุติสายการผลิตไปเมื่อปี 2007
แต่ด้วยเพราะ Hasselblad มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน และมีชื่อเสียงด้านคุณภาพของเลนส์ที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก
ทุกนวตกรรมของ Hasselblad มีที่มาที่น่าสนใจ และทุกสิ่งที่ Hasselblad และ Carl Zeiss ร่วมกันประดิษฐ์ขึ้นหรือพัฒนาขึ้น
ล้วนเพื่อพวกเรา..ที่เรียกตัวเองว่า นักถ่ายภาพ หรือผู้หลงไหลในมนต์เสน่ห์ของ Square Format ทั้งสิ้น
ผู้ใช้ Hasselblad ได้ประโยชน์จากนวตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นโดยตรง นี่เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของ Hasselblad ที่เราๆ ท่านๆ อาจจะรู้หรือลืมนึกไป หรืออาจจะเพิ่งรู้ตอนนี้ก็ได้ Hasselblad จะยังคงอยู่กับคนรุ่นเรา…ต่อไปอีกหลายสิบปี 😀
Hasselblad กับเลนส์ที่ควรรู้จัก จริงๆ แล้ว -Hasselblad ผลิตเลนส์หลายรุ่นมาก เท่าที่มี พอแบ่งได้ 2 Series คือ
1 Lens for Hasselblad 200 Series ใช้รหัสของเลนส์ว่า F, FE
2 Lens for Hasselblad 500 Series ใช้รหัสของเลนส์ว่า C, CF, CF-C [ CF-C ที่ผลิตออกมาคู่กับ 501C โดยเฉพาะ ] CFi และรุ่นล่าสุด CFE
( CFi CFE lens มี contacts ไฟฟ้าที่ตัวเลนส์เพื่อให้เลนส์ CFE series ทั้งหมด สามารถใช้ร่วมกับกล้อง 200 Series ซึ่งเป็นกล้องตระกูลไฟฟ้า เพื่อให้เลนส์รุ่นใหม่ๆ ทำงานร่วมกันได้กับกล้องเต็มระบบ เช่น วัดแสงผ่านเลนส์ auto shutter, auto f-stop ฯลฯ
Hasselblad จำเป็นต้องเลิกสายการผลิตเลนส์ Series FE เนื่องจาก Hasselblad หันไปพัฒนากล้อง H Sereis อย่าง H1 H2 H3D H4D H5D และ H6D ร่วมกับ Fuji ซึ่งเป็นกล้อง Auto Focus Format 645 อย่างจริงจังแทน )
ขออนุญาตเล่าซ้ำนิดหนึ่งนะครับ สำหรับท่านที่รู้แล้วก็ถือว่าเป็นการทบทวนก็แล้วกัน
Carl Zeiss ผู้ผลิตเลนส์รายใหญ่ระดับต้นๆ ของโลก ออกแบบเลนส์ให้กับ Hasselblad เป็นแบบ Leaf shutter และ Shutter Unit อยู่ที่ตัวเลนส์ ไม่ได้เป็นแบบ Focal Plane shutter ที่อยู่ที่ตัวกล้องอย่าง SLR หรือ DSLR ทั่วๆ ไป
Leaf shutter unit ที่ตัวเลนส์ มีเสน่ห์และข้อดีหลายอย่าง เช่น
– มี Image circle ที่มีขนาดใหญ่ นั่นหมายถึงความคมชัดของภาพที่ได้จากเลนส์สูงขึ้นกว่าแบบเดิม ( SLR, DSLR ) มาก
– ตัวเลนส์มีขนาดพอเหมาะไม่ใหญ่เทอะทะจนเกินไปนัก
– เลนส์ให้ความสว่างกว้างสุด F 2.8 ซึ่งถือว่าสว่างมากเพียงพอสำหรับ Medium format
– leaf shutter สามารถ Sync Flash ได้สูงสุดถึง 1/500 วินาที Carl Zeiss Prontor สามารถทำได้ตั้งแต่ห้าสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งยังไม่มีกล้อง Focal plane shutter ตัวใดสามารถทำได้สูงสุดขนาดนี้มาก่อนเลยจนถึงในปัจจุบัน (นอกเสียจากว่าใช้ computer ship set ในตัวกล้อง Digital ช่วย)
เสน่ห์ของเลนส์ C types and C T* types
Hasselblad C lens type รุ่นแรกๆ เป็นสีเงิน หรือ บรอนซ์ มีหลายทางยาวโฟกัสให้เลือกใช้งานเช่น.. 50mm 60mm 80mm 120mm 150mm และ 250mm
ต่อมาพัฒนาสู่รุ่น Black C type ตัวเลนส์เป็นสีดำ มีหลายทางยาวโฟกัสให้เลือกใช้ เพิ่มมากขึ้นเช่น 40mm 50mm 60mm 80mm 100mm 120mm 150mm 250mm 350mm และ 500mm
Hasselblad โด่งดังมาก จาก C type T* Series ( ที สตาร์ ) ในรุ่นกระบอกเลนส์สีดำ เนื่องจากเลนส์มีความคมชัดสูงและถ่ายทอดสีสันได้อย่างดีเยี่ยม
ส่วนใครที่ชื่นชม การถ่ายภาพ Black and White T* lens ถือว่าเป็นตำนานที่กล่าวขานจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว ในแง่ของความคมชัด สีสันที่ไม่จัดจ้านจนเกินไปนัก
การไล่โทนสีที่เหมาะสมกับงาน Zone Systems ในสไตล์คล้ายๆ ของ Ansel Adams
ไม่เหมือนอย่างเลนส์ CF CFi CFE รุ่นใหม่ๆ ที่คมชัดจัดจ้านกว่า แต่ก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเลนส์ในแต่ละยุค ซึ่งต่างชื่นชอบกันตามอัธยาศัย
เพราะ “ Hasselblad Fits to Anyone ”
Hasselblad “เหมาะกับคนทุกๆ คน” ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพหลงไหลในมนต์เสน่ห์ของภาพจากเจลาตินฟิล์มสี่เหลี่ยมจัตุรัสและอีกหลายๆ เหตุผล
ที่ไม่ทราบเหมือนกันว่า Hasselblad เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจเราตั้งแต่เมื่อไหร่…
รู้ตัวอีกที Hasselblad ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความทรงจำที่งดงามไปแล้ว…
เสน่ห์ของเลนส์ C ที่ไม่มีแล้วในเลนส์รุ่นใหม่ๆ อย่าง CF, CF-C, CFi และ CFE
เลนส์ของ Hasselblad ที่ผลิตออกมารุ่นหลังๆ Functions ของเลนส์บางอย่างถูกตัดออกไป ด้วยเหตุผลหลายอย่าง
อาจจะเป็นเหตุผลทางด้านการตลาดของการผลิตชิ้นส่วน หรือความนิยมในการใช้งานในฟังชั่นนั้นๆ เริ่มลดลง
จึงจำเป็นต้องเพิ่มฟังชั่นอื่นๆ ที่จำเป็นกว่าเข้ามาแทน
Hasselblad กับการถ่ายภาพซ้อน
Hasselblad ไม่มีปุ่มถ่ายภาพซ้อนเหมือนอย่างกล้อง SLR ทั่วๆ ไป
วิธีการถ่ายภาพซ้อนนั้น ทำได้โดยการถ่ายภาพที่เราต้องการไปก่อนในครั้งแรก
เมื่อถ่ายเสร็จแล้ว จากนั้นให้ใส่ Dark slide กลับเข้าไปเหมือนเดิม ทำการถอดฟิล์มแม็กกาซีนออก
เมื่อถอดฟิล์มแม็กกาซีนออกแล้ว ให้ขึ้นฟิล์มหรือชัตเตอร์ที่กล้องแล้วใส่ฟิล์มแม็กกาซีนเข้าไปใหม่อีกครั้ง
ถอด Dark slide แล้วถ่ายใหม่ซ้ำอีกครั้ง
การถ่ายภาพซ้อนสามารถทำได้ตามคำแนะนำนี้..
แต่มีข้อแนะนำอยู่ว่า ควรตั้งบนขาตั้งกล้องเท่านั้น เพราะตำแหน่งของภาพอาจจะไม่อยู่ที่เดิมถ้าเราใช้มือถ่าย
ไม่เช่นนั้นจะเกิดภาพซ้อนที่ได้ภาพเหลื่อมกัน เหมือนเราถ่ายทับเฟรมภาพเดิมก่อนหน้านี้ครับ..
การถ่ายภาพซ้อน ส่วนใหญ่ถ่ายภาพในเวลากลางคืนเสียมากกว่า.. เช่นถ่ายภาพดวงจันทร์ให้มีขนาดใหญ่ด้วยเลนส์เทเล
จากนั้นเปลี่ยนเป็น wide angle lens เพื่อถ่าย landscape ประมาณนี้ครับ หรือขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ถ่าย 😀
ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ…
Yut Hasselblad
Sep 16, 2016