พวกเราเคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ภาพถ่ายแต่ละภาพที่เรามองเห็นว่าสวยงามนั้น แท้จริงแล้วมันไม่ได้ถ่ายยากเย็นอะไรเลยในความคิดและมุมมองของผม (แต่กว่าผมจะพูดอย่างนี้ได้ ผมก็งมอยู่นานเหมือนกันนะ เรียนผิดเรียนถูกมาหลายปี ถึงตอนนี้คนที่สนใจถ่ายภาพสามารถเรียนลัดได้แล้วครับ ไม่ต้องเดินอ้อมเหมือนผมอีกต่อไป) ภาพที่เราถ่ายมาแล้วไม่ค่อยสวยนั้น เป็นเพราะเรายังมองมุมยังไม่เก่งต่างหาก ยังเลือกเวลาถ่ายภาพที่ไม่เหมาะสม ยังมองทิศทางของแสงยังไม่ออก และยังจัดองค์ประกอบภาพยังไม่เป็น มองภาพขาดๆ เกินๆ และไม่รู้ว่าต้องการนำเสนออะไรในภาพนั้นๆ แต่ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาก็เป็นเรื่องที่เรียนรู้กันได้นะครับ
ช่างภาพที่เก่งๆ หลายๆ คนที่กำลังอ่านอยู่นี้ ถ่ายภาพเก่งกว่าผมมากมาย อันนี้ผมเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่ด้วยความเป็นสาธารณะ ทุกคนมีสิทธิ์ในการเรียนรู้ได้เท่าๆ กัน หากเนื้อหาตอนใดทราบกันดีอยู่แล้วก็ Skip ไปได้ครับ สำหรับคนที่ยังใหม่ ก็อ่านเพื่อเพิ่มพูนความรู้และลองทำตามเพื่อความเพลิดเพลิน คิดว่าไม่น่าเสียหายอะไร 😀  เรื่องหลักการง่ายๆ ในการถ่ายภาพให้สวยจึงเป็นที่มาของเรื่อง ที่แม้แต่คนที่มีเพียงโทรศัพท์มือถือหรือ Smartphone ก็ถ่ายภาพได้สวยเช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องมี Hasselblad ก็ทำได้นะครับ

Rule of Thirds

          กฏ 3 ส่วน เป็นหนึ่งในหลายๆ กฏของการถ่ายภาพ ที่ช่วยให้เราถ่ายรูปได้สวยงามที่สุด ถ่ายภาพได้ง่ายที่สุด  และสามารถถ่ายภาพสิ่งรอบข้างหรือใกล้ตัวได้สวยงามเช่นกัน แต่เราไม่ค่อยได้ทำความรู้จักกับมันเลย
ในสมัยที่ผมเริ่มถ่ายภาพใหม่ๆ ผมหาข้อมูลใน Internet (สมัยเน็ทความเร็ว 56k) มีเนื้อหาให้อ่านพอสมควรแม้ไม่แพร่หลายนัก แต่อ่านๆ ไป เหมือนแต่ละเว็บไซท์ทำสำเนากันมา (แม้ในปัจจุบันเน็ทความเร็ว 10GB) ก็ไม่ต่างกัน รูปภาพมีเยอะแยะมากมาย รูปดีๆ เป็นล้านๆ รูป แต่รูปที่คนเขียนเนื้อหานำมาเป็นตัวอย่าง มันซ้ำกันไปซ้ำกันมาได้อย่างไร?  ทั้งๆ ที่เป็นคนละคนเขียน (ลองค้นคำว่า “กฏสามส่วน” ดูนะครับ ดูสักสามสี่เว็บแล้วจะเห็นด้วยกับผม) ยังเป็นคำถามที่ผมคาใจมาจนถึงทุกวันนี้  (หรือศิลปะคือการลอกเลียนแบบ…ลอกกันตั้งแต่ทฤษฏีเลย :D)
ปกติการถ่ายภาพก็มีกฏเกณฑ์อะไรต่างๆ มากมายอยู่แล้ว เช่นกฏเส้นนำสายตา กฏความสมดุลแบบเท่ากัน กฏสมดุลแบบไม่เท่ากัน กฏของภาพสะท้อน กฏของการถ่ายภาพเงาดำ ฯลฯ เจอกฏสามส่วน (Rule of Thirds) เข้าไปยิ่งงงกันไปใหญ่
ผมเคยพูดไว้หลายครั้งว่า..ทฤษฎีถ่ายภาพเอาไว้รับรองภาพถ่ายนั้นๆ ว่าถูกหลักสากล สวยงามและมีศิลปะ  เราพบเห็นภาพสวยงามจากการเดินทางที่ไหนเวลาใดก็ถ่ายตามจังหวะที่เหมาะสม ถ่ายตามที่พบเห็น และตามความสะดวกของคนที่เดินทางไปด้วย  การตั้งใจเดินทางไปหาสิ่งนั้นๆ อาจไม่พบก็เป็นไปได้ และการถ่ายภาพก็ไม่จำเป็นต้องมีกฏในการถ่ายภาพครบถ้วนในภาพเดียว มีเพียงสองสามหลักการก็เพียงพอแล้ว หรือภาพที่สมบูรณ์มีเพียงกฏข้อเดียวก็สวยงามได้เช่นกัน
เมื่อไหร่จะเข้าเรื่องกฏสองสามส่วนที่ว่านี่เสียที… ครับๆ..เข้าเรื่องแล้วครับ.. 😀
ผมขออธิบาย “Rule of Thirds” หรือกฏ 3 ส่วน ตามความเข้าใจของผมนะครับ แต่คิดว่าผู้ที่อ่านตามน่าจะเข้าใจได้ง่าย เข้าสู่เนื้อหากันเลยดีกว่า
ลองนึกถึงกรอบภาพสีเหลี่ยมผืนผ้าหรือกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่เป็นกรอบสีขาวเปล่าๆ หนึ่งกรอบ เห็นภาพแล้วนะครับ จากนั้นลากเส้นตรงสองเส้นที่มีระยะห่างเท่าๆ กัน ลากจากขอบบนลงมาขอบล่างเป็นแนวตั้ง และลากเส้นตรงอีกสองเส้นที่มีระยะห่างเท่าๆ กัน จากกรอบภาพแนวนอนไปบรรจบกับอีกกรอบภาพอีกด้านหนึ่ง การลากเส้นตรงสองเส้นทั้งแนวตั้งและเส้นตรงสองเส้นในแนวนอนนี้ ก่อให้เกิดจุดตัดกัน 4 จุดตรงกลางภาพ

 

Empty frame of the rule of thirds theory
Empty frame of the rule of thirds theory

 

หากภาพยังไม่ชัดเจน อ่านต่อไปอีกนิดนะครับ เส้นตรงสี่เส้นที่ลากตัดกันเองภายในกรอบสี่เหลี่ยมและเกิดจุดตัด 4 จุดนี้  จะเกิดช่องทั้งหมด 9 ช่อง ช่องทั้ง 9 ช่องนี้ เมื่อนับช่องด้านบนจากซ้ายไปขวาจะได้ 3 ช่องหรือ 3ส่วน เมื่อนับจากช่องบนลงมาข้างล่างจะได้ 3 ช่องหรือ 3 ส่วน  และเมื่อนับช่องตรงกลางจากซ้ายไปขวาก็จะได้ 3 ช่องหรือ 3 ส่วนเช่นเดียวกัน นี่เป็นที่มา “ของกฏสามส่วน” หรือ “Rule of Thirds” ที่หลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่หลายๆ คนก็เพิ่งได้ทำความเข้าใจจริงๆ จังๆ ก็ตอนนี้

 

Screen Shot 2559-08-10 at 21.18.25

 
ยังไม่จบเสียทีเดียวกับกฏในการถ่ายภาพง่ายๆ ข้อนี้ จุดตัดที่เกิดขึ้น 4 จุด เป็นตำแหน่งที่สายตาเรามองเห็นได้เร็วกว่ามุมหรือจุดอื่นๆ ในกรอบภาพ ฉะนั้น การวางตำแหน่งจุดสนใจของสิ่งที่เราต้องการถ่ายภาพ ไว้ในจุด 4 จุดนี้ ภาพและเรื่องราวจะน่าสนใจและสวยงามมากยิ่งขึ้น
เรื่องต่อมาคือแล้วจำเป็นหรือไม่ ที่สิ่งที่เราต้องการถ่ายภาพต้องอยู่ในจุด 4 จุดนี้เสมอไป คำตอบคือ…ไม่ครับ..!!
เราจะมาลองทายกันดูว่า..จุดใดคือจุดที่เป็นจุดเด่นหรือเรียกความสนใจจากคนดูภาพถ่ายได้ดีกว่าจุดอื่นๆ กันดีกว่า เพื่อเราจะได้นำไปใช้ได้ถ่ายภาพได้เองบ้าง มันง่ายจริงๆ ครับ

 

Landscape and rule of thirds
Landscape and rule of thirds

Screen Shot 2559-08-10 at 21.17.22

ถูกต้องครับ… ภาพนี้มีจุดที่น่าสนใจและเตะตามากที่สุด 1 จุดคือ ตรงบริเวณแสงสีทองเหลืองอร่ามนี่เอง ส่วนอื่นๆ ก็มีส่วนทำให้ภาพสวยงามเช่นกันนะครับ ฝึกฝนให้มากๆ แล้วจะมองภาพออกได้เอง..ไม่มีใครเก่งมาแต่เกิด แม้แต่ช่างภาพระดับโลก..ก็ต้องฝึกฝนเหมือนกัน

 

มาทายกันต่อครับว่า..จุดตัดที่ทำให้ภาพถ่ายน่าสนใจจากกฏสามส่วน จะมีตรงไหนบ้างจากภาพต่อไปนี้

Landscape and rule of thirds
Landscape and rule of thirds

Screen Shot 2559-08-10 at 21.17.49

ถูกต้องครับ… ภาพนี้มีจุดที่น่าสนใจและเตะตามากที่สุด 2 จุดคือ ตรงบริเวณโขดหินด้านหน้าทางซ้ายมือและภูเขาหินรูปร่างแปลกตาทางด้านหลัง ภาพนี้องค์ประกอบภาพสวยงามลงตัวทีเดียว มือใหม่คงพอสังเกตได้นะครับว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องวางตำแห่งวัตถุไว้ตรงกลางภาพเสมอไป ก็ได้ภาพที่สวยงามแปลกตาเหมือนกัน

มาทายกันต่อครับว่า..จุดตัดที่ทำให้ภาพถ่ายน่าสนใจจากกฏสามส่วน จะมีตรงไหนบ้างจากภาพต่อไปนี้

Waterfall and the rule of thirds
Waterfall and the rule of thirds

Screen Shot 2559-08-10 at 21.20.15

ถูกต้องครับ… ภาพนี้มีจุดที่น่าสนใจและสะดุดตามากที่สุด 2 จุดคือ ตรงบริเวณสายนำ้ตกทั้งสองตำแหน่ง ส่วนด้านบนจุดตัด 2 จุดโล่งๆ มีท้องฟ้าสีหม่นๆ อยู่ไกลๆ ไม่โดดเด่นอะไรมาก แต่ก็เป็นส่วนประกอบรองที่ดีเช่นเดียวกัน ช่วยให้น้ำตกที่ไหลยาวเป็นสายดูสบายตาทีเดียว

มาทายกันต่ออีกภาพครับว่า..จุดตัดที่ทำให้ภาพถ่ายน่าสนใจจาก “กฏสามส่วน” ที่เราอ่านๆ มา จะมีจุดตัดที่เราสามารถทำให้ภาพดูสวยตรงไหนบ้าง จากภาพต่อไปนี้

 

Landscape mountain and rule of thirds
Landscape mountain and rule of thirds

Screen Shot 2559-08-10 at 21.18.25

ถูกต้องครับ… ภาพนี้มีจุดที่น่าสนใจและสะดุดตามากที่สุด 3 จุดด้วยกันคือ ตรงบริเวณหญ้าด้านหน้า 2 จุด และตำแหน่งภูเขาอีก 1 จุด ส่วนด้านขวาบนโล่งๆ มีท้องฟ้าอยู่ไกลๆ ไม่มีอะไรโดดเด่น แต่ก็เป็นส่วนประกอบของภาพที่ดี ทำให้เห็นภาพภูเขาด้านหลังและหิมะที่กำลังละลายอยู่ด้านหน้า บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงไปของสภาวะอากาศโลก…

ผมได้รับภาพอนุเคราะห์จากคุณหมอ จอมพล มุสิกวงศ์  https://www.facebook.com/chompol.musigavong ภาพที่คุณหมอถ่ายใช้กับกฏสามส่วนได้ทุกภาพเลยครับ ภาพสวยๆ เหล่านี้อาจเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ยังมองภาพไม่ออก ได้มีตัวอย่างภาพที่ดี  วิวทิวทัศน์บ้านเราก็ใช้หลักการเดียวกันได้ ไม่ต้องไปไกลถึงขั้วโลกเหนือ (แต่ผมก็คิดว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิต..ถ้ามีโอกาศดีๆ เราก็ควรไปกันนะครับ :D)

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ของคุณหมอและเพื่อนๆ ที่ร่วมกันทะยอยๆ ส่งภาพและเนื้อหาให้ผมได้มีเรื่องมาบอกเล่าที่บ้าน Square Format Frame ของเรา

ขอให้มีความสุขกับการถ่ายภาพครับ..

Yut Hasselblad

August 13, 2016